Friday, July 10, 2015

Drone in Construction

โดรน ภาค 2 การใช้งานโดรนในงานก่อสร้าง
Drone: Part 2- Use of Drone in Construction

เรื่องโดย ศ.ดร. ปิติ สุคนธสุขกุล
(ตีพิมพ์ในนิตยสารคู่บ้าน ฉบับที่ 51)

ในฉบับที่แล้ว ผมเขียนเรื่องจุดเริ่มต้นของโดรน หรือ อากาศยานไร้คนขับ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากการใช้ในกิจการทางทหารเป็นหลัก ในฉบับนี้ผมจะมาต่อเรื่องการนำโดรนไปใช้งานในกิจการอื่นๆที่มีความสร้างสรรค์ และเพื่อให้เข้ากับเนื้อหาของวารสาร เราคงหนีไม่พ้นที่จะต้องคุยกันในเรื่องของการนำโดรนไปใช้ในงานก่อสร้าง โดยผมขอแบ่งการเขียนออกตามประเภทของงานที่นำไปใช้เป็นหลัก

การใช้งานโดรนเพื่อการตรวจสอบความสมบูรณ์ของโครงสร้าง โดยทั่วไปการตรวจสอบสภาพโครงสร้างเบื้องต้นมักจะเป็นการตรวจสอบด้วยตาเปล่า (Visual Inspection) ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดและเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด แต่หากต้องการที่จะตรวจสอบให้ละเอียดขึ้นก็อาจจำเป็นต้องพึ่งการทดสอบแบบไม่ทำลาย เช่น กล้องอินฟราเรด หรือ คลื่นอัลตร้าซาวน์ เป็นต้น อย่างไรก็ตามในกรณีที่โครงสร้างตั้งอยู่ในสถานที่ห่างไกลหรือกินพื้นที่กว้าง เช่น ท่อน้ำมันหรือท่อก๊าซ การตรวจสอบทั้งหมดโดยใช้คนตรวจสอบอาจจะเสียค่าใช้จ่ายมากและใช้เวลานาน ปัจจุบันได้มีการนำโดรนชนิดคอปเตอร์ 4 ใบพัด (Quad-copters) ที่ติดตั้งอุปกรณ์ เช่น กล้องความละเอียดสูง เครื่องสแกนแบบเลเซอร์ และ Light Detector and Ranging (LIDAR) เพื่อใช้ในการออกเก็บข้อมูลความเสียหายของโครงสร้างในพื้นที่ห่างไกลหรือในตำแหน่งที่เข้าถึงได้ยากและมีความเสี่ยงสูง (รูปที่ 1)



การใช้งานโดรนเพื่อเก็บข้อมูลของพื้นที่ บริษัท โคมัตสุ (Komutsu) ประเทศญี่ปุ่นได้นำเสนอการประยุกต์ใช้งานโดรนในการเก็บข้อมูลระดับผิวดินของโครงการก่อสร้าง โดยข้อมูลที่ได้จะถูกนำไปสร้างเป็นแบบจำลอง 3 มิติ และนำไปวางแผนการขุดปรับแต่งหน้าดินให้มีความราบเรียบหรือได้ระดับที่ต้องการ ซึ่งโคมัตสุเองวางแผนไปไกลจนถึงขั้นที่ว่าจะใช้รถขุดแบบไร้คนขับในการทำงานปรับแต่งหน้าดิน ซึ่งจะทำให้แก้ไขปัญหาแรงงานก่อสร้างขาดแคลนได้ (รูปที่ 2) [หาอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.wsj.com/articles/drones-next-job-construction-work-1421769564 ]



นอกจากการใช้งานโดรนในการตรวจสอบโครงสร้างและเก็บข้อมูลแล้ว คำถามต่อมาคือมีความเป็นไปได้ไหมที่จะนำโดรนไปใช้งานในกระบวนการก่อสร้างหรือไม่ บทความจากนิตยสาร Smithsonian Magazine เรื่อง The Drones of the Future May Build Skyscrapers กล่าวถึงรูปแบบการก่อสร้างอาคารสูงที่มีความเป็นไปได้ที่จะใช้โดรนในการยกชิ้นส่วนของโครงสร้างขึ้นมาประกอบเป็นอาคารสูง โดยบริษัทสถาปนิกสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ชื่อว่า Gramazio & Kohler ร่วมกับ Raffaello D’Andrea ได้ทำการพัฒนาระบบ “Flight Assembled Architecture” ซึ่งเป็นการก่อสร้างโดยใช้โดรนยกโมดูลของห้องขึ้นมาประกอบเป็นอาคารสูง โดยบริษัทได้จำลองรูปแบบการก่อสร้างดังกล่าวขึ้นมาโดยใช้โดรนคอปเตอร์แบบ 4 ใบพัดยกก้อนโฟมสี่เหลี่ยมผืนผ้าประมาณ 1500 ก้อนขึ้นเรียงเป็นโครงสร้างที่มีความสูงมากกว่า 6 เมตร (รูปที่ 2 และ 4) [ผู้อ่านที่สนใจสามารถหาบทความดังกล่าวอ่านเพิ่มเติมได้ที่ [ http://www.smithsonianmag.com/arts-culture/the-drones-of-the-future-may-build-skyscrapers-18390584/  ]





ปัจจุบันงานวิจัยและพัฒนาทางด้านการใช้งานโดรนในงานก่อสร้างกำลังเป็นที่แพร่หลายในประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจาก 1) มีต้นทุนไม่สูงมาก (ท่านผู้อ่านสามารถซื้อโดรนแบบ 4 ใบพัดคุณภาพดีในราคาไม่เกิน 2000 เหรียญสหรัฐ) และ 2) ไม่ต้องขออนุญาติ (การใช้งานโดรนที่มีระยะบินที่ความสูงไม่เกิน 120 เมตรและมีน้ำหนักไม่เกิน 4.4 ปอนด์ ถูกจัดอยู่ในหมวดสันทนาการ จึงไม่จำเป็นต้องขออนุญาติจากกรมการบินของสหรัฐ)  



สำหรับผมแล้วในความเห็นส่วนตัว ผมคิดว่าการประยุกต์ใช้งานโดรนในด้านการก่อสร้างเป็นเรื่องที่เป็นไปได้เป็นอย่างยิ่งและเป็นสิ่งที่เราจะได้เห็นแน่นอนในอนาคตอันใกล้นี้ แต่อย่างไรก็ตาม ผมมีความเห็นว่าการใช้งานโดรนมีข้อที่ควรต้องระมัดระวัง 2 ประการ คือ 1) ต้องระมัดระวังสิทธิส่วนบุคคลและความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องในเรื่องของการสอดแนม และ 2) ต้องระมัดระวังในเรื่องของอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่โดรนเกิดทำงานผิดพลาดหรือเสียในระหว่างการทำงาน ซึ่งอาจจะตกลงมาทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินได้ ผมขอจบบทความนี้แต่เพียงเท่านี้ครับ พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ

No comments:

Post a Comment