Friday, July 10, 2015

Drone Part 1

โดรน ภาค 1 จุดเริ่มต้น
(Drone: Part 1-The Beginning)

เรื่องโดย ศ.ดร.ปิติ สุคนธสุขกุล 
(ตีพิมพ์ในนิตยสารคู่บ้าน ฉบับที่ 50)

หลายคนที่ติดตามข่าวสารด้านเทคโนโลยีมาตลอด น่าจะคุ้นเคยกับคำว่า โดรน (Drone)” เป็นอย่างดี ผมไม่แน่ใจว่าราชบัณฑิตได้ออกคำจำกัดความของคำๆนี้ออกมาแล้วหรือยัง อย่างไรก็ตาม ผมจะขอเรียกทับศัพท์ไปก่อนเพื่อให้ง่ายต่อการเขียน คำว่า โดรน มีความหมายตามพจนานุกรมต่างประเทศว่า ผึ้งตัวผู้ที่มีหน้าที่ผสมพันธุ์เพียงอย่างเดียว ไม่ต้องทำงานและไม่ต้องออกไปหาน้ำผึ้งแต่ ในปัจจุบัน โดรนหมายถึงอากาศยานไร้คนขับ ที่ควบคุมการเคลื่อนที่ด้วยระบบ Global Positioning System (GPS) ระยะไกล โดยมีหรือไม่มีคนควบคุม
โดยประวัติศาสตร์ของโดรนนั้นเริ่มต้นพัฒนาใช้ในกิจการรบทางอากาศเป็นหลัก ซึ่งอากาศยานรบไร้คนขับนั้นถือหนึ่งในยุทโธปกรณ์ที่ได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เหตุผลง่ายๆก็คือความจริงที่ว่าเครื่องบินรบนั้นต่อให้มีศักยภาพสูงขนาดไหนก็ตามก็ต้องมีคนขับ ทุกครั้งที่เครื่องบินเหล่านี้ออกปฏิบัติการรบ ความเสี่ยงที่จะถูกยิงตกนั้นมีอยู่ตลอดเวลา การสูญเสียเครื่องบินนั้นไม่เท่าไรแต่การสูญเสียคนขับถือว่าเป็นสิ่งทำใจได้ยาก เนื่องจากคนขับเครื่องบินรบที่เก่งมีต้นทุนในการฝึกฝนที่สูงมากและหาคนชดเชยได้ยาก นั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไมโดรนจึงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อให้การรบทางอากาศในอนาคตเป็นแบบไร้คนขับอย่างสิ้นเชิง
หากให้สืบค้นประวัติศาสตร์ของโดรนกันจริงๆนั้น ข้อมูลจะเยอะมากและลำดับเวลาค่อนข้างยาก ในฉบับนี้ผมจะขอเล่าเรื่องราวของโดรน โดยอ้างอิงจากโดรนที่มีชื่อเสียงและถือว่าเป็นต้นแบบของโดรนสมัยใหม่ ลองอ่านดูนะครับ

Unmanned Balloon (1849) : ถ้าผู้อ่านศึกษาประวัติศาสตร์ของโดรนจากหลายแหล่ง ส่วนมากจะยกย่องให้บอลลูนไร้คนขับเป็นต้นแบบแรกของโดรน โดยในปี 1849 ประเทศออสเตรียใช้บอลลูนไร้คนขับ (Unmanned Balloon) บรรทุกระเบิดจำนวน 200 ลูก ในการโจมตีในกรุงเวนิช ประเทศอิตาลี แต่ต้องถือว่าไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากกระแสลมเข้ามามีส่วนทำให้ทิศทางการเคลื่อนที่ของบอลลูนผิดออกไปจากเส้นทางที่กำหนดไว้ และการโจมตีพลาดเป้าหมายไปหลายจุด

Kettering Bug (1917): ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1917  บริษัท Dayton-Wright Airplane ได้นำเสนอโครงการตอปิโดอากาศ (Aerial Torpedo) ที่ชื่อว่า Kettering Bug ซึ่งง่ายๆก็คือจวรดตอปิโดติดใบพัดบินออกที่สามารถบินไปด้วยตัวเอง โดย Kettering Bug จะออกตัวด้วยการวิ่งไปตามรางก่อนทะยานตัวขึ้น เมื่อถึงเป้าหมายเครื่องยนก็จะดับตัวลง ปีกหลุดออก เหลือแต่ตอปิโดทิ้งตัวดิ่งลงสู่เป้าหมายที่ต้องการ โดยน้ำหนักระเบิดที่ Bug สามารถบรรทุกได้ในยุคแรกจะอยู่ที่ประมาณ 180 ปอนด์ แต่ด้วยการที่ประสิทธิภาพด้านความแม่นยำของทั้งBug และ Aerial Torpedo นั้นมีน้อยมาก ทำให้โครงการดังกล่าวต้องปิดตัวลงชั่วคราว  

Bat and Robin (1930-40): Bat และ Robin ถือเป็นรุ่นที่สองและสามของ Bug มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า Glide Bomb (GB1 และ GB4) หลักการทำงานของ Bat หรือ GB1 คือการใช้เครื่องร่อนที่ควบคุมได้จากระยะไกลขนระเบิดขนาด 1000 หรือ 2000 ปอนด์ไปถล่มเป้าหมาย โดยเครื่องร่อนจะถูกขนโดยเครื่องบิน B-17 เมื่อบินเข้าไปใกล้ถึงเป้าหมายก็จะทำการปล่อยเครื่องร่อนออกไป โดยเครื่องร่อนจะถูกควบคุมคลื่นวิทยุ ส่วน Robin หรือ GB4 ก็มีหลักการทำงานเหมือนกัน แต่แตกต่างกันตรงการควบคุมผ่านจอโทรทัศน์ที่ติดอยู่หน้าเครื่อง

Firebee I (1950-70): Firebee I ได้รับการพัฒนาโดย บริษัท Ryan Aeronautical โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเป้าซ้อมรบทางอากาศ อย่างไรก็ตาม Firebee I ได้รับการยอมรับว่าเป็นโดรนสมรรถนะสูงตัวแรกและเป็นต้นแบบของโดรนสมัยใหม่ที่ใช้ในปัจจุบัน โดยมีความสามารถในการบินนานกว่า 2 ชั่วโมงที่ระดับความสูงมากกว่า 60000 ฟุต และสามารถทำความเร็วกว่า 500 น๊อต ในปี 1972 กองทัพสหรัฐได้จำลองสถานการณ์รบเหนือน่านน้ำมหาสมุทรแปซิฟิคของ Firebee II เทียบกับเครื่องบินขับไล่ F-4 ซึ่งผลการทดสอบพบว่า Firebee II สามารถหลุดเข้าไปทำลายเป้าหมายได้มากครั้งกว่าที่เครื่องบินรบ F-4 สามารถทำได้ ด้วยการที่โดรนทั้งสองมีสมรรถนะสูงมาก มันจึงถูกนำไปใช้ในงานด้านการสอดแนมเช่นกัน กล่าวกันว่าโดรนกว่า 3000 ตัวถูกปล่อยออกมาเหนือน่านน้ำของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อเก็บข้อมูลสภาพพื้นที่แถบนี้

Predator (1990 to Present):  เป็นโดรนรบที่ถือว่าเปลี่ยนโฉมหน้าของการรบทางอากาศอย่างสิ้นเชิง จากรูปแบบการรบที่มีค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงสูง ไปสู่รูปการรบที่ควบคุมจากระยะไกลและมีความเสี่ยงต่ำมาก ถึงแม้ Predator ออกบินครั้งแรกในปี 1994 แต่พัฒนาการจริงๆเริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงปี 1970 โดย Abraham Karim (Leading System Corp.)นักพัฒนาอากาศยานชาวอิสราเอลซึ่งย้ายถิ่นฐานมายังประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 1980 ได้นำเสนอโดรนสมรรถนะสูงที่เรียกว่า Albatross ที่สามารถบินได้นานถึง 56 ชั่วโมง ต่อจาก Albatross ก็เป็น GNAT-750 (พัฒนาโดย General Atomics) ซึ่งเป็นโดรนที่มีทั้งระบบนำทาง GPS กล้องถ่ายรูปสมรรถนะสูงและอินฟาเรด ที่สามารถบินได้นานถึง 48 ชั่วโมง ในปี 1990 General Atomics ได้เปิดตัว Predator ซึ่งเป็นโดรนที่นอกจากจะปฎิบัติการด้านสอดแนมได้แล้ว ยังมีสมรรถนะในด้านการรบได้อีกด้วย โดย Predator นอกจากจะพกพาอุปกรณ์สอดแนมทันสมัยแล้วยังติดตั้งจรวดมิสไซด์ (Hellfires) เพื่อใช้ในการโจมตีเป้าหมายได้อีกด้วย การติดต่อสื่อสารของ Predator กับศูนย์ควบคุมทำโดยการเชื่อมต่อทางดาวเทียม การปฎิบัติการของ Predator ส่วนมากจะเป็นปฎิบัติการลับ แต่ที่มีร่ำลือกันมากคือปฎิบัติการสังหารบินลาเดน ผู้ก่อการร้ายที่มีชื่อเสียงระดับโลก





ผมขอจบภาคที่ 1 ของเรื่องโดรนไว้แต่เพียงเท่านี้ จริงอยู่ว่าโดรนอาจจะมีจุดเริ่มต้นเพื่อกิจการสงคราม แต่ในปัจจุบัน เราจะเห็นการใช้งานโดรนในเชิงพานิชย์หรือในเชิงสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น ซึ่งผมจะมาเล่าให้ฟังในฉบับหน้า ขอรับรองว่าน่าติดตามมากกว่านี้แน่นอน สวัสดีครับ  

No comments:

Post a Comment